กินดีอยู่ดี ด้านการเงิน
ปัญหาของคนมีเงินในยุคนี้ คือไม่รู้จะเอาเงินที่มีไปเก็บไว้ที่ไหนดี คิดอะไรไม่ออก ก็เลยเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากต่อไป บางคนก็ดิ้นรนอยากให้ได้ผลตอบแทนเยอะ ๆ เลยพยายามไปหาวิธีให้เงินงอกเงยต่าง ๆ นานา เช่น เล่นหุ้น ซื้อกองทุนเอาไปปล่อยกู้ เอาไปลงทุน คุณว่าวิธีที่ทำแบบนี้ถือว่าได้บริหารเงินแล้วหรือยัง? คำตอบคือ “ยัง” ค่ะ ซึ่งหากคุณอยากรู้วิธีว่าการบริหาร จัดการการเงิน แท้ที่จริงแล้วมันเป็นแบบไหน ตาม มาดูกันเลยครับ
จัดการการเงิน
แนวคิดเรื่องการวางแผนการเงินตามหลักสากลบอกว่า นอกจากเงินที่คุณกันออกมาเพื่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว เงินที่คุณแบ่งสรรปันส่วนมาเพื่อการเก็บออมนั้น ก็ควรแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ตามเป้าหมายทางการเงินทุกช่วงเวลาของชีวิตด้วยเช่นกัน โดยการเก็บเงินสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะสั้น
เงินที่เก็บไว้ใช้ในช่วงระยะเวลา 0-2 ปี คือเงินที่จะเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น การขาดรายได้ชั่วคราว ตกงานกระทันหัน เป็นต้น เงินส่วนนี้คุณควรเก็บไว้ในที่ที่สามารถเบิกง่าย ถอนง่าย เช่น บัญชีออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
ระยะกลาง
เงินที่เก็บไว้เพื่อที่จะใช้ในช่วง 2-10 ปีข้างหน้า เช่น เงินไว้ใช้ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงาน ท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือลงทุนใหม่ ๆ เงินส่วนนี้ควรเก็บด้วยเครื่องมือการเงินที่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่จะใช้เงิน เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนผสม พันธบัตร หุ้นกู้ LTF
ระยะยาว
เงินที่เก็บเพื่อเป้าหมายการเงินที่เกินกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น เงินเพื่อการเกษียณอายุ เงินทุนการศึกษาของบุตร เป็นต้น เครื่องมือการเงินที่เหมาะสม สำหรับเป้าหมายเหล่านี้ มีมากมายหลายวิธีให้คุณเลือก เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF กองทุนหุ้น หุ้นปันผล ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ Unit Linked เป็นต้น
นอกเหนือจากเงินข้างต้นที่คุณจัดสรรเอาไว้แล้ว หากยังมีเหลืออยู่เป็นเงินเย็น เราขอแนะนำให้คุณจัดสรรส่วนนี้ เป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่ง เพื่อความร่ำรวย คือการนำเงินก้อนนี้เอามาลงทุนได้ตามสบายโดยไม่ต้องกังวล เพราะหากเกิดความเสียหาย หรือเกิดการลงทุนผิดพลาดไป ชีวิตก็ไม่ลำบากอะไร แต่หากการลงทุนด้วยเงินก้อนนี้ประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นผลพลอยได้ และทำให้คุณมีเงินเพิ่มในการลงทุน ต่อยอดและเพิ่มรายได้ของคุณไปได้อีก
ปัญหาและวิธีแก้
ปัญหาของคนส่วนใหญ่ ในส่วนของการจัดการเรื่องเงิน มักเกิดจากการที่ไม่ได้แบ่งเงินออกมาเป็นส่วน ๆ ตามคำแนะนำนี้ และมักจะเอาเงินไปกองรวม ๆ กัน อย่างเงินที่จะเก็บเพื่อเกษียณ แต่ดันเอาไปรวมกับเงินก้อนอื่น ๆ แล้วก็คิดไว้ว่าสุดท้ายจะมีเงินเหลือเพื่อเกษียณ ซึ่งเราบอกได้เลยค่ะว่าไม่เหลือแน่นอน หรือถ้าเหลือก็ไม่พอเกษียณ เพราะความไม่ชัดเจนในการแบ่งสรรปันส่วนนั่นเอง
ดังนั้น ทางที่ดีแยกบัญชีออกมาเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน บัญชีเพื่อใช้จ่ายรายเดือน บัญชีสำหรับกรณีฉุกเฉิน บัญชีเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ (ซื้อบ้าน,ซื้อรถ) บัญชีเพื่อเกษียณ บัญชีเพื่อการศึกษาลูก และบัญชีเพื่อการลงทุน คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยาก เดี๋ยวก่อนค่ะ สมัยนี้ เทคโนโลยีก้าวล้ำ คุณสามารถตั้งค่าบัญชีให้โอนเงินอัตโนมัติ เข้าสู่บัญชีเหล่านั้นได้เลย โดยที่คุณไม่ต้องดำเนินการเอง มีเงินน้อย เก็บออมน้อย มีเงินมาก เก็บออมมากขึ้นตามไปด้วย คุณต้องระลึกเอาไว้เสมอ ว่าการเก็บออมเงินนั้น ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเห็นผล ดังนั้น เก็บมากเก็บน้อย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ขอเพียงคุณมีความตั้งใจจริง มีความอดทนในการเก็บออม เมื่อเวลาผ่านไป และคุณเห็นผลลัพธ์ที่งอกเงยขึ้นมา คุณจะมีกำลังใจในการเก็บเงินต่อไป
โดยการเก็บออมเงินไปไว้ในบัญชีต่าง ๆ สิ่งที่คุณควรทำคือเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังด้วย ดังนี้
- กองแรก ที่คุณควรแบ่งออกมาคือกองที่คุณกันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่คุณมี และเป็นกองที่มีความสำคัญมากที่สุด
- กองที่สอง คือกองที่เป็นเงินฉุกเฉิน เผื่อไว้กรณีขาดรายได้ชั่วคราว เช่น ตกงาน เปลี่ยนงาน ธุรกิจมีปัญหา เงินส่วนนี้ควรมีอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่ารายได้ต่อเดือน
- กองที่สาม คือกองระยะยาวเพื่อเป้าหมายสำคัญของชีวิต ได้แก่ เงินเพื่อยามเกษียณ เงินก้อนนี้เป็นเงินที่คุณไม่มีไม่ได้ ใช้เงินและระยะเวลาจำนวนมาก จึงจะประสบความสำเร็จได้ในการเก็บออม การเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ จะทำให้คุณใช้เงินในการเตรียมน้อยกว่า ง่ายกว่า และสบายกว่า
- กองที่สี่ คือกองที่คุณเก็บเพื่อเป้าหมายการเงินอื่น ๆ เช่น เก็บเงินแต่งงาน เก็บเงินไว้เที่ยว เก็บเงินเพื่อซื้อรถ ดาวน์บ้าน
- กองที่ห้า คือกองที่กันไว้เพื่อเอาไปลงทุนเพื่อความร่ำรวย ถือเป็นความสำคัญน้อยที่สุด เอาไว้เหลือจากสี่กองด้านบนจริง ๆ จึงนำมาเก็บออมในส่วนนี้
ที่มา https://www.moneyguru.co.th
No comments:
Post a Comment